รู้หรือไม่ !!! ว่าโรคภูมิแพ้นั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยลูกที่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีโอกาสป่วยเป็นโรคสูงกว่าเด็กทั่วไปถึงร้อยละ 50-80 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว แล้วอย่างนี้ หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่จะทำอย่างไร? สามารถป้องกันได้หรือไม่? ไปหาคำตอบกันเลยโรคภูมิแพ้(Allergy) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ โดยมักเป็นสารจำพวกโปรตีน ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว การเกิดโรคภูมิแพ้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคภูมิแพ้ คือ
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถ้าพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ลูก ๆ ก็จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้เช่นกัน โดยที่
• ถ้าคุณพ่อเป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 30%
• ถ้าคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50%
• ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ถึง 70-75% - สิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น ฝุ่น ควันบุหรี่ หรืออาการบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ เช่น แพ้อาหารทะเล นม ไข่ ถั่ว
ลูกน้อยจะเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
ในวัยทารก ลูกน้อยมักยังไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน โปรตีนแปลกปลอมที่จะก่อให้เกิดการแพ้จึงมาจากอาหารที่รับประทาน ส่วนมากคือ โปรตีนจากนมวัว โดยอาจได้รับโดยตรงจากการดื่มนมผสม หรืออาจแพ้ผ่านมาทางน้ำนมของแม่ ต่อมาเมื่อเริ่มกินอาหารเสริมทำให้แพ้ตามมาได้ โดยอาหารที่พบว่าทำให้แพ้บ่อย ได้แก่ ไข่ขาว ไข่แดง แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง บางรายอาจเกิดอาการของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้(eczema) ซึ่งพบได้มากในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นจึงเกิดเป็นโรคหอบหืด และตามมาด้วยโรคภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้เยื่อบุจมูกและตาอักเสบ
ป้องกันได้อย่างไร?
คุณแม่ที่สูบบุหรี่ช่วงตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ปอดของลูกน้อยเสื่อมสมรรถภาพได้ตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อโรคภูมิแพ้ในวัยทารกด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ คุณแม่หลายท่านอาจสงสัยว่า เราควรงดอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ทารกแพ้ระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น ไม่ดื่มนมวัว งดกินไข่หรือแป้งสาลีระหว่างตั้งครรภ์ คำตอบคือ การตั้งใจบริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมาก เช่น การดื่มนมวัว นมถั่วเหลือง อาจทำให้ทารกเกิดการแพ้อาหารนั้นๆ ได้ แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า การงดอาหารนั้นจะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารในทารก
ดังนั้น ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรกินอาหารแต่ละชนิดให้พอดี กินให้ครบ 5 หมู่ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกัน และไม่ตั้งใจบริโภคอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ไม่ได้บริโภคเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ก็ยังไม่มีข้อมูลสรุปแน่ชัดว่าสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ได้จริงหรือไม่ แต่หากเด็กได้รับการวินิจฉัยว่า แพ้สารดังกล่าวแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ แม้เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยด้านพันธุกรรมของลูกได้ แต่ธรรมชาติยังมีโอกาสให้เราดูแลสิ่งแวดล้อมของลูกรักให้พ้นจากโรคภูมิแพ้นี้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลสุขุมวิท, www.komchadluek.net
และพญ. วราลี ผดุงพรรค โรงพยาบาลนครธน