ช่วงเวลาที่คุณแม่ได้ฟูมฟักทะนุถนอมลูกน้อยที่อยู่ในท้อง นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจของผู้เป็นแม่ทุกคน คุณแม่หลายคนถึงกับกล่าวเลยว่าช่วงเวลานั้นเป็นการเฝ้ารอการลืมตาดูโลกของอีกหนึ่งชีวิตที่น่าจดจำ และคงเป็นอะไรที่น่าเสียใจแน่ๆ ถ้าช่วงเวลาแบบนั้นไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ ดังนั้น เรื่องของการดูแลผู้ตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่จะช่วยลดภาวะครรภ์เสี่ยงสูงในคุณแม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำให้ทราบว่า ระบบการดูแลดังกล่าวนี้มีอะไรบ้าง
ระบบดูแลผู้ตั้งครรภ์ จะแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกันคือ
1. การซักประวัติทางด้านสูติกรรม
ส่วนนี้แพทย์จะสอบถามคุณผู้หญิงว่าเคยตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ จำนวนการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดทำคลอด การตั้งครรภ์แฝด การแท้งบุตร ประวัติการคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการตรวจมะเร็งปากมดลูก ความผิดปกติเกี่ยวกับรอบประจำเดือน
2. ด้านสภาวะร่างกายโดยทั่วไป
ในส่วนนี้จะเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย ประวัติการเจ็บป่วย การรับประทานยา โรคประจำตัว รวมถึงการผ่าตัด การให้เลือด รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีปัญหาสุขภาพให้ทำการรักษาหรือควบคุมโรคก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์ต่อไป เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะต้องควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมไปถึงการสอบถามประวัติทางครอบครัว เป็นการสอบถามว่ามีใครเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด และ อื่นๆ บ้างหรือไม่ นอกจากนั้นก็จะมีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์ปอด โดยรวมแล้วจะเป็นการตรวจเพื่อดูความเข้มข้นของเลือด โรคเลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อประเมินสุขภาพโดยทั่วไป
3. ด้านการตั้งครรภ์ในปัจจุบัน
ในด้านนี้จะเป็นการพิจารณาดูว่าสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ปกติดีหรือไม่ ก่อนตั้งครรภ์คุณแม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันหรือไม่ เพราะเชื้อนี้สามารถผ่านจากแม่สู่ลูกได้ในช่วง 3 เดือนแรกทารกอาจพิการได้ ถ้ามีความผิดปกติ ก็จะทำการวินิจฉัยต่อไปว่าเป็นอะไร การรักษาจะทำอย่างไรและเมื่อรักษาแล้วผลการรักษาจะมีการส่งผลต่อไปอย่างไรบ้าง มีเลือดออกจากช่องคลอดบ้างหรือไม่ เพราะจุดนี้อาจเป็นอาการบ่งบอกว่ามีโอกาสแท้งได้ในช่วงอายุครรภ์ต้นๆ หรืออาจเป็นอาการของรกเกาะต่ำในอายุครรภ์ช่วงหลัง แพทย์อาจต้องทำอัลตร้าซาวด์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนมากยิ่งขึ้น
นอกจากการตรวจตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น ก็อาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ อีกบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคู่สมรสแต่ละคู่ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ เพื่อให้มีความปลอดภัยและสุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งทางโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทก็ยินดีบริการคุณอย่างเต็มที่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ. เทวินทร์ เดชเทวพร แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล