การดูแลจิตใจเด็ก หลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง

โรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ ที่วงการแพทย์เรียกว่าPTSD (Post-traumatic stress disorder)คือ สภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์อันตรายที่คุกคามต่อชีวิตของผู้นั้นหรือคนอื่นๆ ทั้งที่ต้องตกเป็นผู้เผชิญกับเหตุการณ์เองโดยตรง หรืออาจได้เห็นเป็นพยานรับรู้ในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการสูญเสียบุคคลที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก เพราะเหตุการณ์นั้นมีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดอาการและปัญหาในการยอมรับปรับตัว เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ความเครียดจากการสูญเสียทั่วไป แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเกินกว่าปกติ อันได้แก่

  • ภัยธรรมชาติต่างๆ อุทกภัย แผ่นดินไหว
  • อุบัติเหตุร้ายแรง รวมถึงอุบัติภัยหมู่
  • การก่อจราจล การต้องเผชิญกับสงคราม
  • การฆาตกรรม บุคคลอันเป็นที่รักฆ่าตัวตาย
  • การถูกทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ เช่น การถูกข่มขืน การถูกทรมาน
  • เด็กที่อยู่ในครอบครัวหรือบ้านที่มีความรุนแรง

อาการของ PTSD คือ กลุ่มอาการที่เกิดได้กับทุกเพศและวัย ประกอบด้วย 4 หัวข้อ

  1. คิดว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น (Re-experiencing) การคิดวนเวียนถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ หรือบางครั้งนึกถึงความทรงจำเลวร้ายนั้นขึ้นมาเอง ทำให้รู้สึกเหมือนต้องไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flashback) ฝันถึงเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำๆ หรือมีปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจเวลาต้องเจอสัญลักษณ์ สิ่งของหรือสถานการณ์ที่ลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
  2. กลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้นๆ หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ไม่กล้าเผชิญกับปัจจัยสิ่งเร้าภายนอกที่จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ เช่น กลัวสถานที่ สถานการณ์ กิจกรรม บทสนทนา
  3. มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) คือการไม่มีอารมณ์ในทางบวก ไม่มีความสุขและไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรมนั้นๆ การรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น มีความเชื่อและคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง มีการตีความขยายออกไปในทางลบ บางรายไม่สามารถจดจำส่วนที่สำคัญของเหตุการณ์นั้นได้ทำให้อาจมีความคิดบิดเบือนจากสาเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาของเหตุการณ์ ซึ่งความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ ขี้โกรธ ขี้อาย ขี้กลัว รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
  4. อาการตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal symptoms) เป็นอาการคอยจับจ้อง คอยระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้นกับเสียงดังๆ ส่งผลให้ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ

ถ้าหลังจากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ผ่านไปแล้ว 4 สัปดาห์แต่ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ หรือบางรายที่อาการเกิดขึ้นในภายหลัง อาการดังกล่าวจะมีผลต่อทั้งการเรียนการทำงานในชีวิตประจำวันให้แย่ลง

ปัจจัยที่บ่งบอกได้ว่าเด็กๆ อาจอยู่ในภาวะ PTSD

  1. ความรุนแรงที่ได้รับ
  2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความหมายต่อผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน
  3. ความยาวนานของระยะเวลาที่ประสบเหตุการณ์
  4. บุคลิกและวิธีการเผชิญต่อสภาวะความเครียดผู้ป่วยเอง
  5. อายุเด็ก
  6. ประสบการณ์เก่าที่เคยมีมาก่อน
  7. สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
  8. การขาดการสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง
  9. เด็กต้องเผชิญกับความยากลำบากทางด้านจิตใจสังคมอย่างต่อเนื่อง

สุขภาพจิตของพ่อแม่ของเด็กที่แสดงออกถึงความวิตกกังวล ซึมเศร้าหลังเกิดเหตุการณ์มีส่วนสำคัญต่อการเกิด PTSD ในเด็ก ได้ รวมถึงการที่พ่อแม่ไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ ไม่เป็นมิตรกับเด็ก การเลี้ยงดูแบบบังคับ

PTSD คือ อาการที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาหรือไม่
การรักษาช่วยเหลือถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและรีบปฎิบัติทันที โดยเฉพาะอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรก เพราะถ้าเพิกเฉย ทอดทิ้ง ไม่รักษา หรือให้การช่วยเหลือช้าก็จะทำให้เด็กกลายเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังไปนาน

การดูแลโรค PTSD ในเบื้องต้นควรทำอย่างไร

  1. คอยติดตามอาการทางจิตใจ
  2. ฟื้นฟูชุมชนให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว
  3. คัดกรองอาการ สังเกตพฤติกรรมและอาการของเด็ก
  4. ประเมินระดับความบกพร่องในการใช้ชีวิตของผู้ประสบภัยเพื่อหาโรคร่วมทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นได้ อันได้แก่
  • โรคซึมเศร้า
  • โรควิตกกังวล
  • โรคกลัว
  • การใช้สุรายาเสพติด (โดยจำเป็นต้องมีผู้ปกครองเข้าร่วมในการประเมินด้วยอย่างยิ่ง)

วิธีการรักษา PTSD
การรักษาทางด้านจิตใจ ประกอบด้วยการทำจิตบำบัด อันมีหลากหลายวิธี

  1. Trauma-Focused Cognitive Therapy สำรวจและพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแนะนำวิธีการให้รู้สึกผ่อนคลายกับการเผชิญสิ่งที่ทำให้ตื่นกลัว ปรับเปลี่ยนความเชื่อและความคิดบิดเบือนเกี่ยวกับอาการหรือเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝึกให้ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ โดยมีผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจโดยการให้ความรู้ผู้ปกครองกับเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เด็กพบเจอและปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ รวมทั้งให้ทักษะผู้ปกครองในการช่วยปรับพฤติกรรมแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กอย่างถูกต้อง
  2. Cognitive-Behavior Therapy (CBT) การทำจิตบำบัดรายบุคคล
  • พ่อแม่มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา Child-Parental Psychotherapy ,Family Therapy ถือเป็นการร่วมสำรวจแก้ไขจิตใจ อารมณ์ และหาวิธีการที่เหมาะสมที่พ่อแม่จะสามารถช่วยเด็กได้
  • เปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อม คือ การให้ความรู้กับครู พ่อแม่ ผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโรค PTSD ในทาง จิตเวชเด็ก โดยการร่วมพยากรณ์โรค การวางแผนให้ครอบครัวได้กลับพบกันและอยู่ด้วยกันโดยเร็ว การจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้เด็กเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด การจัดที่อยู่อาศัยให้มั่นคงปลอดภัย มีระบบการป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำ รวมถึงการฟื้นฟูชุมชน

การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันการใช้ยากลุ่ม SSRIs (Selective serotonin reuptake inhibitor) เช่น Sertraline, Paroxetine มีประสิทธิภาพในรักษาในผู้ใหญ่ ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยในเด็ก ดังนั้นการใช้ยาในเด็กและวัยรุ่นควรจะพิจารณาเป็นรายๆไป

ข้อแนะนำในทาง จิตเวชเด็ก เมื่อเกิดอาการ PTSD ในเด็ก

  • การให้ผู้ดูแลหลักๆ ของเด็กให้ความสำคัญในการตอบสนอง ให้กำลังใจเด็ก รับฟัง ปลอบโยน ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจถึงความปลอดภัย ให้เค้ามั่นใจว่าเค้ามีผู้ดูแล ปกป้องและมีที่พึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ที่ไม่มีผลต่อการรักษา หรือการสัมภาษณ์เพื่อการนำเสนอข่าว
  • ไม่ให้เด็กผู้ประสบภัย ต้องคอยเล่าเรื่องซ้ำๆ
  • ไม่พูดจาซ้ำเติมในเชิงตำหนิให้เด็กรู้สึกผิด แต่เปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยในส่วนที่เด็กอยากจะพูดคุยและความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์
  • พยายามให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามปกติ เพื่อค่อยๆ ให้เด็กได้กลับสู่สภาพเดิม โดยมีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่คอยดูแลให้กำลังใจอยู่เสมอ เพราะผู้ปกครองถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาอาการหรือโรคจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ดี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  โรงพยาบาลสมิติเวช จำกัด