วัคซีนและการตั้งครรภ์

คำถามหนึ่งที่คุณแม่มักจะมีข้อสงสัยระหว่างมาฝากครรภ์คือเรื่องของการฉีดวัคซีน ว่าวัคซีนใดมีความจำเป็นและวัคซีนชนิดใดห้ามให้ระหว่างการตั้งครรภ์บ้าง บทความนี้จึงได้สรุปรวบรวมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนระหว่างการตั้งครรภ์เบื้องต้นเพื่อตอบข้อสงสัยของคุณแม่ดังนี้ค่ะ

วัคซีนที่แนะนำให้ฉีดสำหรับทุกการตั้งครรภ์ มี 2 ชนิด ได้แก่

1.วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (Td)
คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (Td)

  • กรณีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก(Td)มาก่อนแนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ที่ 0,1,7 เดือน
  • กรณีที่เคยได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยักครบ 3 เข็มมาก่อน
    • เข็มสุดท้ายไม่เกิน 10 ปี ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนกระตุ้น
    • เข็มสุดท้ายเกิน 10 ปี กระตุ้นด้วย Td 1 เข็ม

สำหรับวัคซีนคอตีบบาดทะยักและไอกรน (Tdap) จะมีการเพิ่มวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไอกรน (Pertussis) ด้วย เนื่องจากโรคไอกรนมีอุบัติการณ์การเกิดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี

แผนภูมิแสดงอุบัติการณ์การเกิดโรคไอกรนในประเทศไทย (ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

จึงมีคำแนะนำดังนี้

  • ให้รับวัคซีน คอตีบบาดทะยักและไอกรน (Tdap) 1 เข็มที่อายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ สำหรับทุกๆการตั้งครรภ์
  • กรณีต้องรับวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (Td) อยู่แล้ว ให้ฉีดวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรน (Tdap) แทนวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (Td) เข็มที่ต้องฉีดในช่วง 27-36 สัปดาห์
  • หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบบาดทะยักและไอกรน (Tdap) ระหว่างตั้งครรภ์ให้มีการฉีดหลังคลอดทันที 1 เข็มผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ได้

2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ( Influenza vaccine, inactivated type )
กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดก่อนช่วงระบาดในแต่ละปี (ประมาณเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายน) โดยฉีด 1 เข็มเข้าทางกล้ามเนื้อ สามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ นอกจากนั้นให้พิจารณาเป็นกรณีไป เพื่อลดความเจ็บป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลในไตรมาสที่สองและสาม ซึ่งจะสามารถลดอาการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจได้ร้อยละ 29 และลดการเจ็บป่วยของทารกในช่วงหกเดือนหลังคลอดได้ ร้อยละ 63 หากได้รับวัคซีนในช่วงไตรมาสที่สาม

ผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้เวียนศีรษะได้ และมีรายงานการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ Guillain-Barre syndrome ได้ 1-2 รายต่อผู้ที่ได้รับการฉีดหนึ่งล้านราย

สำหรับวัคซีนที่ห้ามฉีดระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค สุกใส (Varicella) งูสวัด (Zoster) และวัคซีน คางทูม หัด หัดเยอรมัน ( Measles, mumps, rubella ) เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น อาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อและเกิดความพิการได้ โดยหากต้องการฉีดวัคซีน หัดเยอรมัน (Rubella vaccine) นั้น แนะนำให้ฉีดก่อนตั้งครรภ์มากกว่า 1 เดือนหรือฉีดหลังคลอดทันที 1 เข็ม และฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกหนึ่งเดือน

สุดท้ายนี้หากคุณแม่มีข้อสงสัยใด แนะนำให้ปรึกษาสูติแพทย์ที่สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานนะคะ เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทั้งคุณแม่และน้องในครรภ์ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์