เช็กเลย! 15 อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้เตรียมเฮเป็นคุณแม่!

อาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป โดยในช่วงระยะสัปดาห์แรกนั้น ว่าที่คุณแม่บางคนนั้นอาจไม่มีอาการแสดงออกหรือไม่มีอาการแพ้ใด ๆ เลยจนไม่รู้ตัวว่าตั้งท้อง ในทางกลับกันบางคนอาจจะมีอาการแพ้ท้องหรืออาการอื่น ๆ เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นอาการที่แสดงออกว่าตั้งครรภ์ในระยะแรกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในทางการแพทย์ก็มีลักษณะบางอย่างที่ร่างกายแสดงออกมาที่สันนิษฐานได้ว่าเป็น อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเป็นคุณแม่มือใหม่

เช็กเลย ! 15 อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ท้องหรือยัง !

  1. ประจำเดือนขาด
    โดยปกติประจำเดือนของผู้หญิงจะมีระยะเวลาประมาณ 21-35 วัน และมาใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่ถ้าหาก ประจำเดือนเกิดขาดหายไปนานเกินกว่า 10 วัน นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า “กำลังตั้งครรภ์” เนื่องจากเมื่อไข่กับตัวอสุจิเริ่มปฏิสนธิกัน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จำนวนมากออกมา เพื่อยับยั้งไม่ให้ผนังมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อย่างไรก็ตาม การขาดของประจำเดือนก็อาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ก็ได้ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกเครียดมากจนเกินไปจนทำให้ไข่ไม่ตก หรือเป็นโรคบางอย่างก็อาจมีผลต่อการขาดประจำเดือนได้ เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับรังไข่ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีรอบเดือนมาไม่แน่นอนอยู่แล้ว
  2. มีตกขาวมากผิดปกติ
    เมื่อมีการตั้งครรภ์ทั้งสรีระและฮอร์โมนในร่างกายก็มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้มี “ตกขาว” ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ แต่อย่าเพิ่งตกใจถ้าลักษณะของตกขาวเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีมก็ถือว่าเป็นสภาวะปกติที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เนื่องจากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดจะมีการสร้างของเหลวออกมาเพื่อหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อรา แต่ถ้าหากตกขาวมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีสีเขียว สีเหลือง และมีอาการคันระคายเคืองร่วมด้วยอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อบางอย่าง ซึ่งควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูนะคะ
  3. มีเลือดซึมออกทางช่องคลอด
    หากคุณแม่เห็นเลือดออกเล็กน้อยกระปริบกระปรอยซึมออกที่บริเวณช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน อย่าเพิ่งตกใจ นั่นอาจเป็นสัญญานของการตั้งครรภ์ในระยะแรก เนื่องจากร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิสนธิภายในมดลูก ซึ่งในช่วง 11-12 วันหลังปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำให้คุณแม่บางรายมีเลือดสีแดงจาง ๆ หรือสีชมพู ปริมาณไม่มากไหลออกมาจากช่องคลอดได้ และเลือดนี้จะหยุดไหลไปเองภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่มีอาการปวดเกร็งท้องก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่คุณแม่ควรจะสังเกตอาการ ถ้าหากมีเลือดไหลไม่หยุดและมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเลือดที่ไหลออกมานั้นจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ และเกิดการแท้งได้
  4. เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
    เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจากรก และรังไข่จะผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้หัวนม และลานนมมีสีเข้ม หรือคล้ำขึ้น รวมถึงเต้านมขยายขนาด รวมกับมีอาการเจ็บตึงด้วย และการเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนในคุณแม่ครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
  5. ปวดหัว/ เวียนศีรษะ
    อาการปวดหัวเป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายและการปรับตัวตามธรรมชาติของร่างกายขณะตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งอาการปวดหัวในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์แรกนั้น แม่ท้องบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น และจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแม่ท้องเป็นสำคัญ บางคนอาจจะเครียดวิตกกังวล หรือมีอาการภูมิแพ้ที่ทำให้อาการปวดหัวจากการตั้งครรภ์มีความรุนแรงกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้องคุณแม่ควรเริ่มปรับพฤติกรรมในการดูแลตัวเองทั้งเรื่องอาหารการกินเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มากพอและดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พักผ่อนเยอะ ๆ ทำจิตใจให้สงบ หลีกเลี่ยงการใช้งานโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน อยู่ในที่ ๆ อากาศปลอดโปร่ง ก็จะช่วยห่างไกลหรือลดอาการปวดหัวลงได้
  6. คัดเต้าและเจ็บหัวนม
    หากรู้สึกใส่ชั้นในแล้วมีอาการรู้สึกเจ็บตึงบริเวณเต้านมและหัวนม หรือไวต่อการสัมผัส เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งท้องในช่วง 1-2 สัปดาห์ อาการนี้จะเกิดขึ้นประจำเดือนขาด โดยสาเหตุของอาการคัดเต้านั่นเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และจะพบว่าเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น เต้านมก็จะยิ่งตึงมากขึ้น รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านมและหัวนมขึ้นอีก เช่น บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้นและมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ หัวนมมีลักษณะสีคล้ำและขยายใหญ่มากขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมบางลงจนสังเกตเห็นเส้นเลือดเต้านมมีสีแดงเข้มและนูนเด่นชัด ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมให้กับทารกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่มีขนาดพอดีเพื่อช่วยรับน้ำหนักเต้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บเหล่านี้จะหายไปได้เองภายหลังตั้งครรภ์แล้วประมาณ 3 เดือนค่ะ
  7. ปวดหลัง
    อาการปวดหลังก็จัดเป็นหนึ่งในอาการที่บ่งบอกได้ว่ากำลังตั้งท้อง โดยมีอาการปวดหรือเจ็บบริเวณหลังช่วงล่างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และอาจมีอาการตะคริวร่วมด้วย สาเหตุของอาการปวดหลังมาจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อส่วนกลาง ที่เป็นผลมาจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับทารกน้อยที่กำลังเติบโตขึ้นภายในร่างกายของคุณแม่นั้นเอง โดยอาการนี้นับว่าเป็นอาการปกติของคนท้อง ทั้งนี้อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ที่ทำให้ศูนย์กลางของการทรงตัวเปลี่ยนไป เป็นผลให้ท่าทางในการยืน นั่ง หรือเดิน ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อคุณแม่ท้องรู้สึกปวดหลังควรปรับท่านอนด้วยการนอนตะแคง ใช้หมอนข้างสำหรับวางขา เลือกที่นอนที่แข็งพอดี ไม่นุ่มจนเกินไป หากปวดหลังมากจนทนไม่ไหวควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเองนะคะ
  8. ปัสสาวะบ่อย
    อาการปัสสาวะบ่อย เป็นสัญญาณที่แสดงว่าร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โหมดตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงนี้แม่ท้องอาจต้องลุกตื่นไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ เนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ใหม่ ๆ หรือในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายจะสร้างของเหลวในร่างกายมากขึ้น มดลูกที่ขยายขนาดจากการตั้งครรภ์ต้องการเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากกว่าปกติจึงทำให้ไตจะทำงานหนักมากกว่าปกติ เพราะปริมาณของเลือดในร่างกายมีเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีเลือดผ่านไตมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ไตกลั่นกรองเอาปัสสาวะมามากขึ้น ในขณะเดียวกันมดลูกที่อยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงไปเบียดและกดทับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แม่ท้องปัสสาวะบ่อยมากขึ้นนั่นเอง แต่เมื่อถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์มดลูกจะอยู่สูงขึ้น การกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้การถ่ายปัสสาวะก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกครั้ง จนถึงช่วงใกล้คลอดที่หัวทารกจะลดต่ำลงอีกครั้งและทำให้แม่ท้องมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นอีกครั้ง
  9. ท้องผูก/ ท้องอืดมากกว่าปกติ
    อาการท้องผูก ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อเข้าสู่สภาวะการตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร รวมทั้งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกที่ไปเบียดเข้ากับลำไส้ใหญ่ส่งผลให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้อาหารย่อยยาก ย่อยได้ช้าลง มีลมในกระเพาะมาก ซึ่งอาการนี้นับว่าเป็นสภาวะปกติของคนท้อง ซึ่งคุณแม่ท้องสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องผูกลงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดเครื่องดื่มอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนม และออกกำลังกายเบา ๆ อย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยแก้ไขอาการนี้ได้ค่ะ
  10. เมื่อยล้าอ่อนเพลียง่าย
    อาการเมื่อยล้ารู้สึกร่างกายเพลียง่ายกว่าปกติเป็นส่วนหนึ่งของอาการคนท้องที่เกิดขึ้นในระยะแรกหรือเดือนต้น ๆ เป็นเพราะว่าร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต มีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัว ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารหรือใช้พลังงานอย่างมากในการพัฒนาทารกในครรภ์ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์บางคนรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ หายและรู้สึกดีขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง ดังนั้นในระยะนี้แม่ท้องควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มเติม ลดกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวันลงบ้าง เพื่อให้ได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำอารมณ์ให้ผ่อนคลาย อาการอ่อนเพลียจากการตั้งครรภ์ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้ค่ะ
  11. รู้สึกหายใจถี่
    เมื่อรู้สึกมีอาการหายใจถี่ เหนื่อยง่ายในขณะทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์มีความต้องการออกซิเจนจากคุณแม่ และเมื่อทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตมากขึ้นก็จะมีแรงกดดันต่อปอดและกระบังลม ส่งผลให้แม่ท้องมีอาการหายใจถี่แบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดการตั้งครรภ์
  12. อยากกินของเปรี้ยว/ อยากกินของแปลก ๆ
    อีกหนึ่งอาการที่บอกได้ว่าตั้งท้อง คือเริ่มรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลงของความอยากอาหารแตกต่างไปจากเดิมทันทีทันใด บางคนอยากอาหารที่มีรสเปรี้ยวมากขึ้น อยากทานอาหารแปลก ๆ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงอยากกิน หรือในบางคนกลับมีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยก็มี ซึ่งเป็นเพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การรับรู้รสชาติของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
  13. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
    ถ้ากำลังรู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองกำลังแกว่ง ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย อารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ หรือร้องไห้เก่ง ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน อาการแบบนี้บอกได้ว่าเป็นอาการที่กำลังเข้าสู่สภาวะตั้งครรภ์ในระยะแรกของคุณแม่มือใหม่ที่คุณพ่อมือใหม่ต้องเตรียมรับมือ ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์นี้เกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลในการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไปอารมณ์ของคุณแม่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเองค่ะ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหาอะไรทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ และคนใกล้ตัวต้องทำความเข้าใจกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นของแม่ท้องคอยช่วยดูแลเพื่อทำให้แม่ท้องไม่เครียดนะคะ
  14. ไวต่อกลิ่น
    สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์จะมีอาการที่จมูกจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า Super Smell เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำก็จะหอมรุนแรงจนกลายเป็นกลิ่นเหม็น และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หรือบางรายมีอาการเหม็นกลิ่นอาหาร กลิ่นตัวสามี เป็นต้น
  15. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง
    อาการคนท้องในระยะแรกที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงยังส่งผลกระทบไปยังภาวะทางอารมณ์ ทำให้แม่ท้องบางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลง หรือบางรายอาจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาการนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ คุณแม่อาจจะเช็กเพื่อความชัวร์ด้วยการตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองจาก ชุดตรวจการตั้งครรภ์เพื่อตรวจหาฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin: HCG ในปัสสาวะ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 90% เมื่อผลจากที่ตรวจครรภ์ออกมาว่าตั้งท้อง วคุณแม่ควรไปฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ เพื่อให้คุณหมอเช็กอายุครรภ์ที่แน่นอน และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อคำนวณกำหนดการคลอด นอกจากนี้คุณหมอจะตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถรักษาได้เร็วหากพบความผิดปกติ รวมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และชีวิตน้อย ๆ ในท้องค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.honestdocs.co, www.medthai.com และamarinbabyandkids.com