10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ต้องรู้

เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์แน่นอนว่าทุกคนก็อยากให้การตั้งครรภ์และการคลอดปลอดภัย สมบูรณ์ทั้งคุณแม่ คุณลูก แต่การตั้งครรภ์ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ วันนี้เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงที่พบบ่อยๆในระหว่างตั้งครรภ์มาให้คุณแม่ได้รู้จัก เป็นข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนนะคะ

  1. ท้องนอกมดลูก
    การท้องนอกมดลูกคือภาวะที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่นอกมดลูก พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ ซึ่งเมื่อเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิต อาการนี้จะพบได้บ่อยๆในคนที่เคยมีประวัติปีกมดลูกอักเสบ หรือเคยทำแท้งมาก่อน
  2. ภาวะรกเกาะต่ำ
    ปกติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก แต่บางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก จึงขวางทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้น รกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ทำให้คุณแม่มีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากๆ อาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ ส่วนมากมักเจอในแม่ที่มีลูกมากๆ เคยคลอดลูกหลายๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน
  3. แท้งบุตร
    การแท้งบุตร คือการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องยุติหรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป การแท้งมีอยู่ 2 ประการคือ แท้งเอง กับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก
  4. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
    ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อเด็กคลอด รกถึงจะหลุดจากมดลูกคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเด็กที่เคยผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกที่หน้าท้อง หกล้ม แต่บางรายก็ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน
  5. ตกเลือดหลังคลอด
    หลังจากการคลอดลูกมดลูกจะมีการบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา การคลอดปกติจะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ200 – 300 ซีซี. แต่มีแม่บางคนเลือดออกมากกว่านั้นจนกระทั่งช็อคหรือเสียชีวิต สาเหตุที่พบบ่อยๆคือ
    สาเหตุที่ 1 มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงออกเยอะ ส่วนมากพบในคนที่อายุมากๆ คลอดลูกบ่อยๆ หรือเกิดจากการคลอดยาก
    สาเหตุที่ 2 เกิดจากการที่มีการฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก
    สาเหตุที่ 3 คือเด็กคลอดไปแล้ว แต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้
  6. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
    มี 2 กลุ่ม คือ ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ สำหรับกลุ่มหลังนี้ เราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ จะพบบ่อยๆ ในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ท้องที่อายุน้อยๆ หรืออายุมากๆ และมักเจอในท้องแรก เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด
  7. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    มีแม่ 2 กลุ่มอีกเช่นกันค่ะ คือ กลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน ซึ่งกลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่าเด็กหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อก อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ มักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมากๆ แม่ที่อ้วนมากๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง
  8. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
    เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  9. โรคโลหิตจาง
    สาเหตุ มี2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย
    โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ โดยรับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ
    โรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ลูกเป็นโรคนี้ และมีอาการมากก็อาจจะทำให้ลูกตายในท้อง หรือลูกบวมน้ำในท้องได้
  10. ไทรอยด์เป็นพิษ
    ในบางคนต่อมไทรอยด์ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่เข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้

ถึงแม้การตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยง แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดได้บ่อยๆ ยังไงก็ตามเวลบีแนะนำว่าก่อนตั้งครรภ์คุณพ่อ คุณแม่ ควรไปตรวจสุขภาพเพื่อความปลอดภัย และวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์จะดีกว่าค่ะ