คุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในช่วงระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์นี้ คุณแม่และคนใกล้ตัวจึงควรเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเอง เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ พร้อมไปกับการปรับตัวเข้าสู่บทบาทความเป็นแม่อย่างเต็มตัว
- การเคลื่อนไหวร่างกายหลังคลอด
แพทย์และพยาบาลจะแนะนำให้คุณแม่เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดินไปเดินมา เข้าห้องน้ำเอง ฝึกดูแลลูกเอง เพราะการเคลื่อนไหวจะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ขยับตัวและทำให้แผลฝีเย็บสมานเร็วขึ้น - การดูแลแผลฝีเย็บ
คุณแม่จะรู้สึกปวดแผลฝีเย็บ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าปวดมาก แพทย์จะให้ยาแก้ปวด 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง อาการก็จะทุเลาลง
– การล้างแผลฝีเย็บ ควรล้างด้วยน้ำต้มสุกอุ่นๆ แล้วใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีซับให้แห้ง ห้ามใช้หัวฉีดล้างชำระหรือใช้ฝักบัวล้างโดยตรง เพราะแรงดันของน้ำอาจทำให้แผลเปิดได้ และยังอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่แผลได้อีกด้วย หลังจากนั้น 5-6 วันแผลก็มักจะติดกันและแห้งสนิท
– น้ำคาวปลา คือเนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูกจนกว่าแผลจะหาย คุณแม่ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ระยะเวลาในการมีน้ำคาวปลาจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปจะมีประมาณ 3 สัปดาห์ - การให้นมลูก
คุณแม่ควรกระตุ้นน้ำนมให้ไหลด้วยการให้ทารกดูดนมทันทีหลังคลอดและดูดบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมงสลับข้างกัน โดยมีวิธีการดูแลเต้านม ดังนี้
– เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดและน้ำหนักมากเป็น 3 เท่าของเต้านมปกติ ทำให้เอ็นที่พยุงเต้านมเกิดการยืด จึงควรสวมยกทรงพยุงไว้ เพื่อช่วยป้องกันการหย่อนยานและลดความเจ็บปวด
– คุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งให้ลูกดูดนมจะรู้สึกเจ็บหัวนม อาจใช้โลชั่นทาที่แผ่นผ้าซับน้ำนมเพื่อลดการเสียดสีที่หัวนม หรือใช้น้ำนมทาบริเวณหัวนมจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้บ้าง และช่วยให้แผลบริเวณหัวนมหายเร็วขึ้น
– ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการให้นมอาจเกิดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการคัดเต้านม มีสิ่งติดค้างอยู่ที่หัวนมทำให้น้ำนมไหลไม่สะดวก หรือคุณแม่ใส่ยกทรงรัดแน่นเกินไป ถ้าคลำดูก็จะพบก้อนในเต้านมและผิวบริเวณนั้นจะบวมแดง สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ลูกดูดนม แล้วคลึงบริเวณที่เป็นก้อนเบาๆ ช่วยให้น้ำนมไหลพุ่งเพื่อจะได้มีแรงดันท่อที่อุดตันให้เปิดออก หรืออาจใช้น้ำอุ่นประคบ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็ควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เป็นฝีที่เต้านมได้
– ล้างมือให้สะอาดก่อนจับเต้านมทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
– ควรดูแลรักษาความสะอาดเต้านมและหัวนมทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังลูกดูดนมเสร็จ โดยใช้น้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดและซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่บริเวณเต้านม เพราะจะทำให้หัวนมแตก - การรับประทานอาหาร
อาหารสำหรับคุณแม่หลังคลอดควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด และมีกากใยมาก เพื่อป้องกันอาการท้องผูก โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ คุณแม่ควรรับประทานให้มาก เพื่อเอาไปสร้างน้ำนมให้ลูก และเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว ส่วนไขมันและคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ แป้ง ข้าว และน้ำตาล ควรกินให้น้อย
– รับประทานอาหารทะเล เพื่อน้ำนมแม่จะได้มีแร่ธาตุไอโอดีนสำหรับเพิ่มไอคิวให้แก่ลูก
– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงอาหารปรุงไม่สุก และอาหารหมักดอง
– คุณแม่ที่ให้นมลูกควรระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานยา เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูกได้ เช่น ยานอนหลับ ยาปฏิชีวนะ ยาจีน
– อาหารรสจัดหรือมีกลิ่นฉุนรุนแรง เช่น เครื่องเทศต่างๆ อาจทำให้น้ำนมมีรสชาติหรือกลิ่นผิดไปจากเดิม จึงทำให้ลูกไม่ยอมดูดนมทั้งที่หิวอยู่
– มีความเชื่อว่าการรับประทานหัวปลีจะช่วยทำให้มีน้ำนมมากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษายืนยันอย่างชัดเจน - การพักผ่อนร่างกายหลังคลอด
คุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองอาจรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะต้องคอยดูแลลูกตลอดเวลา อย่างไรก็ตามควรหาโอกาสพักผ่อนในช่วงที่ลูกนอนหลับบ้าง โดยควรนอนหลับรวมแล้วอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง แต่ในขณะที่ให้นมลูกไม่ควรหลับ เพราะเต้านมอาจปิดจมูกจนลูกหายใจไม่ออกได้ - การบริหารร่างกายหลังคลอด
สามารถเริ่มบริหารร่างกายได้ตั้งแต่วันที่ 2 หลังการคลอดเป็นต้นไป เพื่อให้ผนังท้องที่หย่อนยานหลังคลอด และผนังช่องคลอดกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว นอกจากนั้นยังควรฝึกขมิบบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความกระชับของบริเวณช่องคลอด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพยุงช่องเชิงกราน ช่วยลดโอกาสของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน และลดโอกาสเกิดปัสสาวะเล็ดด้วย - การดูแลผิวพรรณหลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดร้อยละ 90 มักมีอาการท้องแตกลาย ซึ่งสามารถใช้ครีมทาผิวหรือทาแก้ท้องลายนวดบริเวณหน้าท้องที่แตกลายได้วันละหลายๆ ครั้ง ส่วนรอยดำคล้ำตามบริเวณข้อพับต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์ จะค่อยๆ จางลงในช่วงหลังคลอด - การดูแลผมหลังคลอด
ในระยะหลังคลอด คุณแม่อาจผมร่วงมากกว่าปกติ แต่อาการผมร่วงนี้จะหายไปเองภายใน 6-12 เดือน คุณแม่อาจตัดผมสั้น ซึ่งเป็นทรงที่ดูแลง่าย ไม่ต้องหวีผมบ่อย จึงช่วยลดอาการผมร่วงได้ดีขึ้น - การมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดหลังคลอด
ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกระทั่งมาตรวจสุขภาพในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อเป็นการรักษาแผลที่ฝีเย็บ และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก และสามารถเริ่มคุมกำเนิดหลังจากไปตรวจร่างกายเมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอดเช่นกัน - การตรวจร่างกายหลังคลอด
คุณแม่ควรได้รับการตรวจร่างกายในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูการคืนสภาพของปากมดลูกและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ด้วยการตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำคาวปลาผิดปกติ แผลฝีเย็บผิดปกติ มีก้อนที่เต้านม มีไข้หนาวสั่น มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลปิยะเวท