พ่อแม่ควรรู้ ไวรัสโคโรน่า ‘สายพันธุ์ใหม่’ คืออะไร
Severe acute respiratory syndrome coronavirus (SARs-CoV-2) คือเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีชื่อว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) – ‘CO’ มาจากคำว่า Corona, ‘VI’ มาจาก Virus, และ ‘D’ มาจาก Disease ที่แปลว่า ‘โรค’ ซึ่งเจ้าไวรัสโควิด-19 นี้ถือเป็นไวรัสชนิดใหม่ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตระกูลของไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง รวมทั้งโรคหวัดธรรมดาบางประเภท
การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
เชื้อไวรัส โควิด-19 จะถ่ายทอดผ่านการสัมผัสโดยตรงกับฝอยละอองจากลมหายใจของผู้ติดเชื้อ (ที่เกิดจากการไอและจาม) การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน ไวรัส COVID-19 อาจอยู่รอดบนพื้นผิวเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ถูกทำลายได้ด้วยสารฆ่าเชื้อทั่วไป
อาการโรคไวรัสโคโรน่า
ที่มีรายงานอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ มีไข้ ไอ และหายใจหอบ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีโรคปอดอักเสบ หรือหายใจลำบากร่วมด้วย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตแต่พบไม่บ่อยนัก
ทั้งนี้อาการดังกล่าวเบื้องต้นจะมีลักษณะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหวัดธรรมดาซึ่งพบได้บ่อยกว่าโควิด-19 และนี่คือเหตุผลที่จะต้องทำการทดสอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ทั้งนี้โรคเหล่านี้ใช้หลักเดียวกันในการป้องกัน นั่นก็คือการล้างมือบ่อย ๆ และดูแลสุขอนามัยทางเดินหายใจ (ไอ-จามใส่ข้อพับแขนด้านใน หรือบนกระดาษทิชชูและทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด) ซึ่งปัจจุบันก็มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว คุณและลูกจึงควรได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนอยู่เสมอ แต่สำหรับ ไวรัสโคโรน่า นี้ยังไม่มีวัคซีนออกมา
อันตรายของการติดเชื้อ COVID-19 ในเด็ก
ผลกระทบของเชื้อไวรัสชนิดนี้มีความเป็นไปได้ที่คนทุกเพศทุกช่วงวัยสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ โดยเชื้อไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวที่ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ และบางรายอาจจะถึง 1 เดือน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ ส่วนเด็ก ๆ นั้น นับว่าโชคดีที่เด็กจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก ราว 1-2% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
ทั้งนี้เด็กส่วนหนึ่งอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนหนึ่งอาจมีอาการเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศา เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย แต่มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
สำหรับอัตราการเสียชีวิต พบว่าในเด็กที่อายุ 0-10 ปี ยังไม่มีการเสียชีวิตเลย ส่วนในเด็กที่อายุ 10-19 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่เพียง 0.1% ดังนั้นอยากให้คุณพ่อคุณแม่เบาใจก่อนว่าเด็ก ๆ ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลัก และเรายังสามารถป้องกันลูกน้อยจากเชื้อ COVID-19 ได้ จาก วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า ดังต่อไปนี้…
8 วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า COVID-19 ฉบับพ่อแม่ที่มี “ลูกเล็ก” โดยเฉพาะ!
- ไม่เอาลูกไปฝากเลี้ยงไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก
มีหลายครอบครัวที่นำลูกไปฝากไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก เพราะด้วยข้อจำกัดหลายเรื่องของครอบครัว การฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงจึงเป็นทางออกที่ดี แต่ช่วงนี้ วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า COVID-19 ที่ดีที่สุดเพื่อลูกน้อย คือพ่อแม่ควรเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านของตัวเองจะดีกว่า ไม่ควรเอาลูกไปไว้ที่สถานรับเลี้ยงเพราะถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีผู้คนหมู่มากที่อาจจะนำเชื้อโรคมาติดได้ง่ายในตอนนี้ - เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีสุด
ในคุณแม่บางรายอาจจะมีเหตุจำเป็นสำรับการให้นมลูก แต่อย่าลืมว่าน้ำนมที่บริสุทธิ์คือนมจากอกแม่ เพราะเต็มไปด้วยสารอาหารและภูมิต้านทานโรคที่ดีที่สุด เหมาะสำหรับเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโตหากเป็นไปได้ควรที่จะให้ลูกกินนมจากอกแม่จะดีกว่า - พาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด
ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในตอนนี้สำหรับเด็กทารก หากได้รับวัคซีนที่ป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องตามกำหนดเวลาจะเป็นตัวสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้กับตัวเด็กอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน - หมั่นสำรวจสุขภาพของลูกอยู่เสมอ
ถือเป็นด่านแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นประจำทุกวัน นั่นคือการวัดอุณหภูมิร่างกายของลูก หากพบว่าลูกไม่สบาย ควรหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แม้ว่าจะเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาก็ตาม และถ้าเป็นลูกเล็กวัยทารกหากมีไข้สูง และมีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ถ่ายเหลวท้องเสีย แน่นหน้าอก ควรรีบพาไปหาคุณหมอโดยด่วน - ดูแลควบคุมสุขลักษณะของบ้านให้ดี
ควรทำความสะอาดตัวบ้านและบริเวณโดยรอบที่ลูกอาจสัมผัสได้ เช่น พื้น ผนัง ประตู และจุดหรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู ราวจับ ราวบันได สวิตช์ไฟ เป็นต้น ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และให้มีระบบการระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในบ้านและไม่ควรให้ลูกใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ - ความสะอาดของพ่อแม่สำคัญ
เมื่อพ่อแม่ต้องออกไปข้างนอก (ทำงาน ทำธุระ หรือ จ่ายตลาด ซื้อของในห้าง) เมื่อกลับมาบ้าน สิ่งแรกที่ควรจะทำมากที่สุดคือการทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้สะอาดเรียบร้อย ก่อนที่จะตรงดิ่งมาสัมผัส หอมกอดหรือฟัดลูกน้อยแสนรัก เพราะเรานั้นต้องออกไปเผชิญกับหลายสิ่งอย่างของนอกและเสี่ยงการที่จะนำเชื้อโรคเข้าภายในบ้าน ฉะนั้นแล้วจงห้ามใจซักนิดรีบตรงดิ่งไปกลับบ้านไปหาลูกทันทีด้วยนะคะ - ดูแลความสะอาดในบ้านและคนรอบข้างอย่างเข้มงวด
และเพราะลูกน้อยวัยทารกมักจะเป็นขวัญใจของหลายคนในบ้าน ซึ่งทุกคนก็ล้วนแล้วแต่อยากที่จะกอด จะหอม ฉะนั้นแล้วควรที่จะเข้มงวดกับ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติทั้งหลายเรื่องความสะอาดไม่ฉะนั้นแล้วความเสี่ยงที่จะโดนเชื้อโรคอาจจะมาจากคนใกล้ตัวก็ได้ - ไม่พาลูกออกนอกบ้านหรือไปในที่ชุมชนแออัด
อีกหนึ่ง วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นคือพยายามเลี่ยงการพาลูกไปห้าง หรือสถานที่ที่มีคนอยู่รวมตัวกันเยอะ ๆ อากาศถ่ายเทไม่สะดวกไปก่อน หากต้องการจะพาลูกออกไปเที่ยว ควรเลือกสถานที่โปร่ง ๆ อากาศดี ๆ เช่น สวนสาธารณะ ทะเล นอกจากจะช่วยเพิ่มความสดชื่นแล้ว ยังเป็นการพาลูกไปเปิดหูเปิดตากับธรรมชาติสวย ๆ ด้วย
ทั้งนี้หากจำเป็นจริงๆ (ไปฉีดวัคซีน) ควรป้องกันโดยให้ลูกใส่หน้ากากอนามัย พกทิชชู่เปียกเจลหรือสบู่ล้างมือติดไปด้วย ที่สำคัญระวังห้ามให้คนอื่นสัมผัสหรือแตะต้องตัวลูกน้อยเป็นอันขาด (ยกเว้นคุณหมอหรือพยาบาล)
ทำประกันโรคโควิด-19 ช่วยอุ่นใจ!
สุดท้ายขอแถม แม้จะไม่ใช่วิธีป้องกัน หรือ วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า แต่การ ทำประกันโรคโควิด-19 ให้อุ่นใจไว้ก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำทั้งเพื่อตัวเองและลูกน้อย ซึ่งช่วงนี้บริษัทประกันหลายแห่งมีแผนประกันโคโรนาไวรัสออกมา ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันไม่แรง แถมให้ความคุ้มครองเป็นหลักแสนบาทขึ้นไปก็มี คุณพ่อคุณแม่จึงควรลองศึกษาข้อมูลและเลือกทำให้ลูกน้อย เพื่อความอุ่นใจและเผื่อฉุกเฉินนะคะ
หากสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคโควิด-19
คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ ซึ่งอาการของโรคโควิด-19 เช่น ไอหรือมีไข้นั้น คล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาหรือโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งพบบ่อยกว่ามาก เมื่อคุณหรือลูกมีอาการเหล่านี้ (เคยไปในพื้นที่เสี่ยง) ควรรีบไปพบแพทย์ และหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
อย่างไรก้ตาม ถึงจะป้องกันทุกวิถีทาง ตาม วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า ที่แนะนำเบื้องต้นแล้ว แต่หากสังเกตได้ว่าลูกเริ่มไอ มีไข้ หรือหายใจติดขัด อย่ารอช้า ควรปรึกษาแพทย์ทันที และให้ลูกอยู่ในห้องที่เตรียมไว้แยกจากสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ หรือถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: เทพ สุวรรณ cities.trueid.net , www.unicef.org , baby.kapook.com และ Amarin Baby&Kids