ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากปัสสาวะ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือ การตรวจหาความผิดปกติในระยะเริ่มแรกของปากมดลูก ซึ่งวิธีที่นยมกันในปัจจุบัน คือ

  • การตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูก (Cervical cytology) หรือ Pap smear ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก ที่เป็นผลจากการติดเชื้อ HPV เพื่อทำการสืบค้นและรักษาไม่ให้ดำเนินโรคเป็นมะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งที่ปากมดลูก หรือ HPV DNA testing เป็นการตรวจหาตัวเชื้อโดยตรง บริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด

ตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ

ในอดีตได้เริ่มมีการตรวจทางเซลล์วิทยาปากมดลูก ซึ่งพบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ถ้ามีความครอบคลุมของการตรวจในกลุ่มประชากรสูง เช่น ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงใช้การตรวจทางเซลล์วิทยาเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก

แม้การเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก จะเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ที่สำคัญคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าตรวจ ด้วยเหตุผลหลัก คือ เขินอาย กลัวเจ็บ และไม่มีเวลา ไม่สะดวก ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนาและนำไปสู่การตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก การตรวจหา HPV DNA ในน้ำปัสสาวะน่าจะมีความเป็นไปได้

ทำให้นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะมีขั้นตอนการตรวจคือ ทำการเก็บปัสสาวะโดยเก็บปัสสาวะในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อ ให้มีปริมาตรอย่างน้อย 15-30 มิลลิลิตร ที่เหมาะสมที่สุดคือ ปัสสาวะในช่วงแรก หลังจากส่งตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่แล้ว จะใช้ระยะเวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ 4 ชั่วโมง และสามารถแจ้งผลการตรวจได้ภายใน 3 วัน ในกรณีที่ผลการตรวจเป็น positive คือพบเชื้อ HPV จากปัสสาวะต้องเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันผล โดยการทำ Pap smear โดยสูตินรีแพทย์ต่อไป ส่วนในกรณีที่ผลการตรวจเป็น negative คือตรวจไม่พบเชื้อ HPV ก็ควรทำการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อ HPV จากปัสสาวะคือ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้หญิงในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้น (Pre-screening program) ในผู้หญิงที่กลัวและไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายในเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ มีความสะดวกมากในการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากมีผู้รับการตรวจคัดกรองมากขึ้น

ส่วนข้อด้อยของวิธีนี้คือ การตรวจหา DNA ในปัสสาวะนั้นทำได้ยาก เนื่องจากตัวอย่างที่ได้อาจมีความเจือจาง และมีการปนเปื้อนของ urea และ nitrites และสารอื่น ๆ ที่สามารถยับยั้งปฏิกิริยา polymerase chain reaction ได้ อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียอื่น ๆ ด้วย และอาจทำให้ตรวจไม่พบ HPV DNA หรือให้ผลการทดลองที่คลาดเคลื่อน และความแม่นยำของผลการตรวจไม่เทียบเท่าการตรวจ Pap smear

กลุ่มที่เหมาะกับการตรวจหาเชื้อ HPV จากปัสสาวะคือ วัยรุ่น หรือเด็กหญิงที่ต้องการตรวจก่อน หรือหลังรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกในการตรวจ Pap smear และกลุ่มผู้หญิงที่เขินอาย กลัวเจ็บ และปฏิเสธการตรวจ Pap smear อย่างสิ้นเชิง

แม้ว่าผลการวิจัยจะยืนยันว่าเราสามารถตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะได้ แต่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่มาทดแทนการตรวจ Pap smear เพียงแต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่กลัวหรืออาย และไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายใน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในอนาคตที่ทำให้ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น และสามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ wongkarnpat.com