ธาลัสซีเมีย: โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ – ตรวจเช็คเพื่อลดการส่งต่อ

September 9, 2024

ธาลัสซีเมียคืออะไร? ใช่โรคโลหิตจางหรือเปล่า?
ธาลัสซีเมียเป็นกลุ่มโรคโลหิตจางที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง และเม็ดเลือดแดงที่มีอยู่ก็อายุสั้นกว่าปกติ จึงเกิดภาวะโลหิตจาง ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนน้อยเกินไป โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ โดยยีนมาครึ่งหนึ่งจากพ่อและอีกครึ่งจากแม่ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจำนวนและชนิดของยีนที่ผิดปกติ

พาหะธาลัสซีเมียในคนไทย ประเทศไทยมีผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจำนวนมาก แบ่งออกเป็น:
• 20-30% เป็นพาหะแอลฟาธาลัสซีเมีย
• 13% เป็นพาหะฮีโมโกลบินอี
• 9% เป็นพาหะบีตาธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมีย มีกี่ชนิด?
โรคธาลัสซีเมีย แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ แอลฟาธาลัสซีเมีย (alpha Thalassemia) กับ บีตาธาลัสซีเมีย (beta Thalassemia)

1.แอลฟาธาลัสซีเมีย (alpha Thalassemia) คืออะไร?
แอลฟาธาลัสซีเมีย (alpha Thalassemia) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการสร้างโกลบินสายแอลฟา (alpha globin) ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 16 โดยยีนในสายแอลฟามีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนยีนที่ผิดปกติไป โดยจำแนกได้เป็น

พาหะแอลฟาธาลัสซีเมีย alpha thalassemia trait
หากยีนผิดปกติ 1-2 ตำแหน่ง จะเรียกว่ามีภาวะธาลัสซีเมียแฝง หรือพาหะธาลัสซีเมีย (thalassemia trait) ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นโรค จึงไม่มีอาการผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่สามารถถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานได้ ทั้งนี้ในการตรวจเลือด ส่วนใหญ่จะพบว่าเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก

โรคฮีโมโกลบินเอช Hb H disease
หากยีนผิดปกติ 3 ตำแหน่ง จะเรียกว่าเป็นโรคธาลัสซีเมีย ชนิดที่เรียกว่า Hb H disease ผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจาง แต่มักไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ แต่อาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกแบบเฉียบพลันในช่วงที่มีไข้หรือติดเชื้อ และอาจมีภาวะธาตุเหล็กเกินสะสมในร่างกายได้ จึงควรพบแพทย์สม่ำเสมอ

ภาวะทารกบวมน้ำ hydrop fetalis
หากยีนผิดปกติ 4 ตำแหน่ง จะเรียกว่า Hb Bart’s hydrops fetalis หมายถึงภาวะทารกบวมน้ำทั้งตัว ทารกมักจะเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอด ถือว่าเป็นธาลัสซีเมียชนิดที่รุนแรงที่สุด คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อให้มั่นในว่าทารกจะไม่มีความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว

2.บีตาธาลัสซีเมีย (beta Thalassemia) คืออะไร?
บีตาธาลัสซีเมีย (beta Thalassemia) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการสร้างโกลบินสายบีตา (beta globin) ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 11 โดยยีนในสายบีตามีทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนยีนที่ผิดปกติไป โดยจำแนกได้เป็น

พาหะบีตาธาลัสซีเมีย beta thalassemia minor
หากยีนผิดปกติ 1 ตำแหน่ง จะเรียกว่ามีภาวะธาลัสซีเมียแฝงหรือพาหะธาลัสซีเมีย(Thalassemia trait) ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นโรค จะไม่มีอาการผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่สามารถถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานได้ ทั้งนี้ในการตรวจเลือด ส่วนใหญ่จะพบมีขนาดเม็ดเลือดแดงตัวเล็ก

โรคบีตาธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรง beta thalassemia intermedia
หากยีนผิดปกติ 2 ตำแหน่งชนิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจาง แต่มักไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ แต่อาจมีภาวะธาตุเหล็กเกินสะสมในร่างกายได้ จึงควรพบแพทย์สม่ำเสมอ (ยกเว้นความผิดปกติชนิดฮีโมโกลบินอี (homozygous hemoglobin E) จะไม่นับว่าเป็นโรค ไม่จำเป็นต้องรักษา เช่นเดียวกับพาหะธาลัสซีเมีย)

โรคบีตาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง beta thalassemia major
หากยีนผิดปกติ 2 ตำแหน่งชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซีดรุนแรง ตับม้ามโต ใบหน้าเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโตผิดปกติ กระดูกพรุน ติดเชื้อในกระแสเลือด นิ่วในถุงน้ำดี ไขกระดูกเจริญนอกไขกระดูก ความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง แผลเรื้อรังที่ขา รวมทั้งมักจะมีปริมาณธาตุเหล็กเกินสะสมตามอวัยวะต่างๆ ส่งผลเสียต่อหัวใจ ตับ และระบบต่อมไร้ท่อ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำทุกเดือน และเฝ้าระวังภาวะธาตุเหล็กเกินอย่างใกล้ชิด คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อให้มั่นในว่าทารกจะไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย
การตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด ซึ่งทำได้ 3 แบบ คือ

1.CBC เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด จะตรวจพบภาวะโลหิตจางร่วมกับขนาดเม็ดเลือดแดงตัวเล็ก
2.Hb typing สามารถตรวจหาโรคบีตาธาลัสซีเมีย พาหะบีตาธาลัสซีเมีย และโรคแอลฟาธาลัสซีเมียได้
3.PCR for alpha thalassemia สามารถตรวจหาพาหะแอลฟาธาลัสซีเมียได้

วิธีรักษาโรคธาลัสซีเมีย
1.การให้เลือด หากเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือเมื่อมีข้อบ่งชี้ โดยแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็น
2.การรับประทานยาบำรุงเลือด folic acid เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
3.การตรวจติดตามความเข้มข้นของเลือด และปริมาณธาตุเหล็กสะสมในร่างกายทุก 3-6 เดือน เพื่อควบคุมหรือรักษาตามความเหมาะสม
4.การรับประทานหรือฉีดยาขับธาตุเหล็กเมื่อมีข้อบ่งชี้ (serum ferritin >800 ng/mL ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับเลือดสม่ำเสมอ หรือ >1,000 ng/mL ในผู้ป่วยที่ได้รับเลือดสม่ำเสมอ)
5.การตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคและภาวะธาตุเหล็กเกินสะสมในร่างกาย เพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนและอื่นๆ

หากคุณเป็นพาหะ วางแผนก่อนมีลูก
พาหะธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปสู่ลูกได้ หากพ่อแม่เป็นพาหะชนิดเดียวกัน ลูกมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ถึง 25% ดังนั้น ควรตรวจคัดกรองก่อนวางแผนมีบุตร

ดังนั้น เมื่อมีการตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์และปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมว่าได้รับการถ่ายทอดยีนด้อยและมีโอกาสเป็นธาลัสซีเมียมากแค่ไหน นอกจากนี้คู่สามีภรรยาอาจจะเลือกใช้วิธีผสมเทียมเข้ามาช่วยในการมีบุตร เพื่อเป็นการคัดกรองก่อนการตั้งครรภ์ ก็จะปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รพ. พญาไท และรพ.เมดพาร์ค

Contact Us

วัน - เวลาทำการ : วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 - 17.30 น.

BCC GROUP THAILAND
บริษัท บางกอก ไซโตเจเนติกซ์ เซ็นเตอร์ จำกัด
บริษัท บีซีซี เมดิคอล กรุ๊ป จำกัด

65/17-18 ซอยวิภาวดีรังสิต 16/6 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900

โทรศัพท์ : 02-690-0063, 086-306-2084 090-907-4230

แฟกซ์ : 02-690-0064

อีเมล : info@bccgroup-thailand.com

แผนผังเว็บไซต์