September 12, 2024
ไม่ต้องรอจนลูกน้อยคลอดออกมา คุณแม่ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในท้องได้ด้วยวิธีกระตุ้นพัฒนาการ ทารกในครรภ์ ที่เริ่มได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งช่วงเวลาที่ทารกเจริญเติบโตภายในครรภ์นั้นเซลล์ประสาทและระบบภายในร่างกายเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นช่วงเวลาไม่ว่างเปล่าที่คุณแม่จะส่งเสริมทักษะอันหลากหลายให้กับเจ้าตัวน้อยได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง พัฒนาการของทารกในครรภ์ไม่ว่าจะเป็นด้านสมอง ร่างกายจะได้รับการพัฒนาเมื่อถูกคุณแม่กระตุ้น เพื่อให้ลูกคลอดออกมาเป็นเด็กฉลาด ไหวพริบดี อารมณ์ดี มีสุขภาพที่ดีแข็งแรงเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
กระตุ้นพัฒนาการ ทารกในครรภ์ เริ่มต้นเมื่อไหร่ดี
นับตั้งแต่กระบวนการปฏิสนธิโดยสมบูรณ์ ไข่ผสมกับสเปิร์มและสร้างเป็นตัวอ่อน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ภายในท้องของคุณแม่ก็เริ่มพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และสร้างระบบอวัยวะต่างมากมายรวมทั้งเซลล์สมองที่มีการเพิ่มทั้งจำนวนและขนาด เกิดเป็นเนื้อสมองและเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมองและเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทอย่างมากและรวดเร็วเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนั้นช่วงทองที่คุณแม่จะกระตุ้นพัฒนาการของสมองลูกน้อยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ตลอด 9 เดือนกันเลย
ไม่ต้องรอคลอด! 9 วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการสร้างลูกฉลาด อารมณ์ดีได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง
1. ลูบหน้าท้องกระตุ้นความรู้สึก
ช่วงไตรมาสแรกแม้ทารกจะเป็นตัวอ่อนอยู่ แต่ภายในเดือนที่ 2 ทารกจะเริ่มรับรู้สัมผัสทางกายได้ การที่คุณแม่ได้สัมผัสหน้าท้องหรือลูบท้องเบา ๆ จะทำให้ทารกรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะท้อน ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ความรัก ความอบอุ่นที่ผ่านจากปลายมือเหมือนกำลังสัมผัสร่างกายส่วนต่าง ๆ ของลูกน้อยที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกใกล้ชิดกับเจ้าต้วน้อยในท้องมากขึ้น และการส่งเสียงทักทายพูดคุยกับเบา ๆ ที่ทำให้คุณแม่มีความสุขในช่วงเวลานี้ ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดรฟินหรือสารแห่งความสุขจะถูกส่งผ่านไปทางสายสะดือไปยังทารกในครรภ์ จะทำให้ลูกน้อยเป็นเด็กอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย มีพัฒนาการที่ดีทั้ง IQ และ EQ
2. อ่านหนังสือให้ลูกฟังกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูกน้อย
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ระหว่างชีวิตน้อย ๆ ในท้องกับคุณแม่ก็คือการได้ยินกันและกันผ่านผนังหน้าท้อง แม้ว่าลูกจะอยู่ภายในอีกด้านหนึ่ง แต่ก็สามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ โดยทารกในครรภ์จะเริ่มได้ยินเสียงได้ดีตั้งแต่เดือนที่ 5 ดังนันเพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูกน้อยด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงแค่คุณแม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านออกเสียงให้ลูกได้ฟัง ใช้เวลาซัก 30 นาทีหรือก่อนนอน เช่น นิทานเด็ก หนังสือวรรณกรรมเด็กและเยาวชน หรือคู่มือเลี้ยงลูก เป็นต้น เสียงสะท้อนจากคุณแม่จะกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อสมองในชั้นที่มีความซับซ้อนด้านการได้ยิน การตีความเสียง และส่วนของความทรงจำ ที่มีส่วนช่วยให้ลูกมีพัฒนาการได้เร็ว ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อคุณแม่อ่านหนังสือด้วยการใช้โทนเสียงที่มีจังหวะสูงต่ำเหมือนการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง และเอามือแตะท้องเบา ๆ ไปด้วยในขณะอ่าน ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกตอบสนองกับเสียงของแม่ไปด้วย และนอกจากลูกน้อยจะได้พัฒนาการที่ดีจากการที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังแล้ว ลูกยังได้คุ้นชินกับเสียงของคุณแม่ตั้งแต่ในครรภ์ ความรู้สึกที่ส่งผ่านไปจะทำให้ลูกผ่อนคลาย อารมณ์ดี มีแนวโน้มที่เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายอีกด้วย
3. เล่นหน้าท้องกระตุ้นลูกดิ้น
นอกจากการสัมผัสหน้าท้อง ลูบหน้าท้องเบา ๆ ที่คุณพ่อกับคุณแม่สามารถทำได้บ่อย ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะรับรู้ได้ถึงการดิ้นของลูก ในขณะที่ลูกดิ้นหรือโก่งตัวเคลื่อนไปมา คุณแม่อาจตอบสนองโดยใช้มือเล่นหน้าท้องกับลูกด้วยการลูบให้แรงขึ้น โดยวนเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบนก่อนก็ได้ หรือใช้นิ้วจิ้มไปยังจุดที่ลูกเคลื่อนไหว หากจังหวะนั้นลูกในท้องมีปฏิกิริยาตอบรับ มีการเคลื่อนที่หรือดิ้นไปยังทิศทางหนึ่ง แสดงว่าลูกมีการตอบสนองจากสิ่งเร้าที่คุณแม่สร้างให้ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาสมอง เพิ่มเติมความฉลาดให้กับลูกน้อยในท้องได้อีกวิธี
4. ให้ลูกน้อยฟังเพลงกระตุ้นพัฒนาการได้ยิน
ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มได้ยินตั้งแต่อายุครรภ์เดือนที่ 5 หูของทารกในครรภ์จะมีความสมบูรณ์ในสัปดาห์ที่ 20 และเริ่มต้นรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในสัปดาห์ที่ 24 ได้ยินเสียงในสัปดาห์ที่ 30 สามารถแยกแยะเสียงได้ในสัปดาห์ที่ 34 ซึ่งระบบประสาทการรับฟังถือว่าเป็นพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสของเด็กที่พัฒนาในอับดับต้น ๆ ดังนั้นเสียงต่าง ๆ จากภายนอกก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น โดยเฉพาะเสียงเพลง หากเปิดดนตรีให้ลูกได้ฟังในระหว่างตั้งครรภ์ ประมาณ 10-15 นาที/วัน เปิดเสียงเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณ คลื่นเสียงจะไปกระตุ้นการได้ยินให้พัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทั้งนี้คุณแม่สามารถเปิดเพลงในแนวที่คุณแม่ชอบฟังหรือเพลงที่มีทำนองไพเพราะ ท่วงทำนองฟังสบาย อย่างเพลงคลาสสิคที่ขึ้นว่ามีส่วนช่วยเพิ่มไอคิวเสริมสร้างพัฒนาการทำให้สมองดี เฉลียวฉลาด และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี อีกทั้งเมื่อลูกน้อยที่ได้ยินเสียงผ่านผนังหน้าท้องอาจจะมีการตอบสนองต่อเสียงเพลงด่วยการเคลื่อนไหว ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
5. ชวนลูกคุยบ่อย ๆ กระตุ้นพัฒนาการได้ยิน ภาษา และอารมณ์
ในระยะไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในเดือนที่ 6 ที่ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินของทารกเริ่มทำงานได้เต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการอ่านหนังสือ เปิดเพลงให้ลูกฟังล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของลูกน้อย และอีกหนึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านนี้ได้ดียิ่งขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คือ การพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ เสียงพูดของคุณพ่อคุณแม่จะส่งผ่านเข้าไปถึงลูกน้อยช่วยกระตุ้นพัฒนาการการได้ยิน รับรู้ แยกแยะเสียง และทำให้ทารกในครรภ์มีทักษะด้านภาษาและสื่อสารตั้งแต่ยังไม่ได้คลอด ทั้งนี้ทารกสามารถจำเสียงคุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องด้วย หลังคลอดหากทารกงอแง หงุดหงิดง่าย เมื่อได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ก็อาจทำให้ลูกน้อยสงบลงได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงเท่านี้การพูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์ยังเป็นการเชื่อมสายใยรัก ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
6. ส่องไฟฉายกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็น
ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือนทารกในครรภ์สามารถลืมตา กระพริบตา รับรู้แสง มองเห็นแสง และแยกความแตกต่างระหว่างความมืดและความสว่างได้แล้ว ในระยะนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นให้กับลูกน้อยด้วยการใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้อง เปิดปิดไฟแบบกะพริบ ๆ เพื่อให้แสงเคลื่อนที่บนล่างอย่างช้า ๆ ผ่านหน้าท้องไปที่น้ำคร่ำ เล่นกับลูกด้วยวิธีวันละ 5-10 ครั้งประมาณ 1-2 นาที ซึ่งลูกอาจจะมีการตอบสนองแสงไฟด้วยการดิ้นให้คุณแม่รับรู้ได้ การส่องไฟที่หน้าท้องนี้จะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นของทารกมีพัฒนาดีขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นของทารกในภายหลังคลอด
7. ดมกลิ่นหอม ๆ กระตุ้นการรับกลิ่นของลูกน้อย
ในช่วงอายุครรภ์เดือนที่ 9 แม้ประสาทสัมผัสด้านการได้กลิ่นของทารกจะเริ่มทำงานไม่ชัดเจนนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกน้อยในด้านนี้ได้ด้วยการใช้กลิ่นหอมจากธรรมชาติหรือออโรมาอ่อน ๆ ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมภายในบ้าน แถมกลิ่นหอมอ่อน ๆ นอกจากช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย ลดภาวะเครียดในช่วงใกล้คลอดลงได้ เมื่อคุณแม่อารมณ์ดี ไม่เครียด ก็จะส่งผลต่อไอคิวของลูกน้อยให้ฉลาดจากฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินที่หลั่งออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
8. กินดีช่วยกระตุ้นพัฒนาการการรับรส
ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนากาารที่ดีขึ้น รวมทั้งประสาทสัมผัสที่เกี่ยวกับการรับรส ลูกน้อยในครรภ์จะสามารถรับรู้รสจากการกลืนน้ำคร่ำและอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป ดังนั้นการใส่ใจโภชนาการในช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง คุณแม่ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะสารอาหารที่จำเป็นต่อแม่ท้อง เช่น ไอโอดีน ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ และธาตุเหล็ก ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่าการขาดสารอาหาร 2 ตัวนี้ในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เด็กในท้องคลอดออกมามีไอคิวที่ต่ำได้ DHA ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการสมองและสายตาของลูกน้อยในครรภ์ โปรตีน สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารกในครรภ์ แคลเซียม สำคัญต่อการเจริญเติบโตกระดูกของลูกในท้อง กรดโฟลิคหรือโฟเลต เป็นต้น
9. ออกกำลังกายกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
เมื่อคุณแม่ท้องออกกำลังกายมีส่วนทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย เคล็ดลับของออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ คือ เลือกออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน โยคะคนท้อง ว่ายน้ำ ฯลฯ ให้เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที การได้ออกกำลังกายจะช่วยให้หัวใจของแม่ทำงานได้ดี เลือดไหลเวียนได้ดี การขยับเขยื้อนของคุณแม่จะส่งผลให้ผิวของทารกไปโดนกับผนังด้านในของมดลูก ผลดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งท้องมีวิธีกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกน้อยที่ส่งผลต่อความฉลาด อารมณ์ และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้หลายวิธี ลองทำแบบนี้ได้บ่อย ๆ กับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ก็เป็นการสร้างความฉลาดให้ลูกติดตัวมาได้ไม่ยากเลย ทั้งนี้รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลว่า “ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเลยว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่และวิธีการใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพียงแต่มีข้อสังเกตว่าทารกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มีสติปัญญาดี เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี” ดังนั้นถ้าคุณแม่อยากจะกระตุ้นพัฒนาการของลูกในครรภ์จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ถ้าคุณแม่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองสบายดี มีความสุข และไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องก็สามารถทำได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.si.mahidol.ac.th, www.happymom.in.th และ www.amarinbabyandkids.com
65/17-18 ซอยวิภาวดีรังสิต 16/6 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900
โทรศัพท์ : 02-690-0063, 086-306-2084 090-907-4230
แฟกซ์ : 02-690-0064
อีเมล : info@bccgroup-thailand.com